ไทยเจ๋งอุตรถยนต์ไฟฟ้าแห่ลงทุน จี้กรมขนส่งรื้อระเบียบเก่า-ตั้งเป้าดีเดย์ผลิตปี 60
กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าญี่ปุ่นหารือกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมตั้งฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในไทย คาดเดินเครื่องผลิตได้ภายในปี 2560 ตั้งเป้ายอดขาย 4 หมื่นคันภายใน 5 ปี เจาะกลุ่มอาเซียน-ยุโรป
นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นเข้าพบว่า บริษัท FOMM Corporation จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่จากญี่ปุ่น ที่เชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก มีแผนที่จะเข้ามาลงทุนร่วมกับผู้ผลิตของไทย เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 4 หมื่นคันภายใน 5 ปี เพื่อส่งขายในตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีราคาประมาณคันละ 3 แสนบาท ขณะนี้รถต้นแบบได้ผลิตเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบด้านความปลอดภัย
ที่ผ่านมา FOMM ได้เข้ามาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการวิจัยพัฒนาด้านความปลอดภัย โดยในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าของ FOMM สามารถวิ่งได้ไกล 150 กม./ชม. ต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง (6 ชม.) มีความเร็ว 90 กม./ชม. แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพ คาดว่าหลังจากสร้างโรงงานเสร็จในปี 2017 จะเพิ่มระยะทางวิ่งได้ 300 กม./การชาร์จ 1 ครั้ง ทำให้สามารถสู้กับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษสามารถลอยน้ำ และขับเคลื่อนในน้ำได้หากเกิดน้ำท่วม
นอกจากนี้ FOMM ยังได้จับมือลงนามเอ็มโอยูกับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ในความร่วมมือพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมทั้งการบริหารหลังการขายร่วมกัน โดยในระยะแรกจะตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงก่อน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
สำหรับการเข้ามาหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ทาง FOMM ขอให้กระทรวงผลักดันแก้ไขปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้รถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งตามท้องถนนจะต้องมีกำลังไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 15 กิโลวัตต์ จึงจะสามารถจดทะเบียนได้ แต่จากเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้กำลังไฟฟ้าได้ต่ำกว่าที่กำหนดได้แล้ว ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือในเรื่องของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในท้องถนนว่าจะมีความปลอดภัยเพียงไร ซึ่งหากผ่านข้อกำหนดด้านความปลอดภัยได้ ก็เชื่อว่าจะมีการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งในท้องถนนหลวงได้
นายสมชายกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงอยู่ระหว่างการหารือเรื่องการผลิตรถบัสไฟฟ้า ที่ภาคเอกชนอยากให้ในระยะแรกนำเข้ารถบัสไฟฟ้าทั้งคันจากจีนก่อนเพื่อทดสอบตลาด จากนั้นจึงค่อย ๆ ส่งเสริมให้เกิดการตั้งโรงงานประกอบ และผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องหารือในรายละเอียดของการส่งเสริมว่าจะต้องมีมาตรการใดบ้าง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้
“มาตรการอุดหนุนทางภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงสุด 8 ปี ยังไม่เพียงพอต่อการดึงดูดการลงทุน เพราะประเทศคู่แข่งต่างอุดหนุนในด้านต่าง ๆ มากกว่านี้ ดังนั้นหากไทยต้องการดึงผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกให้เข้ามาตั้งฐานการผลิต จะต้องมีมาตรการอื่น ๆ สนับสนุน จึงจะมีแรงในการชักจูงการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยไทยยังมีข้อได้เปรียบประเทศอื่นในด้านของการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนมาก หากมีมาตรการด้านอื่น ๆ มาเพิ่ม ก็จะทำให้ต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น” นายสมชายกล่าว
นายณัฐพล รังสิตพล รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าได้เกือบทุกพื้นที่ เพราะระบบไฟฟ้าของไทยเป็นไฟฟ้าแรงสูง ใช้เวลาชาร์จประมาณ 20 นาที ขณะที่การเติมน้ำมันใช้เวลา 5 นาที ขณะที่ต่างประเทศตามถนนในเมืองจะเป็นไฟฟ้าแรงต่ำ จะมีความยุ่งยากในการสร้างสถานีชาร์จ”
ขอขอบคุรบทความจาก : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1466361670