‘บิ๊กจีน’เดินหน้าลุย ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย
“โฟตอน” ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ผนึก 30 ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ไทย รับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางและใหญ่ในไทย รับนโยบายรัฐ
นโยบายรัฐที่เดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมองเห็นโอกาสตลาดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ล่าสุดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ผนึกกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยหลายสิบราย ประเดิมตลาดนี้ในไทย
นายสมบูรณ์ ทิพยรังสฤษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด หรือ TEV ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กว่า 30 บริษัทในกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสนับสนุนที่ใช้พื้นฐานด้านวิศวกรรมเครื่องกลและการผลิต เปิดเผยว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท Beiqi Foton Motor จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์โฟตอน (Foton) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 2 ของจีน เพื่อร่วมกันออกแบบและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทรถบัสขนาดกลางและขนาดใหญ่ในไทยที่มองว่าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ตามนโยบายรัฐที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว
โดยการร่วมมือในครั้งนี้ บริษัทโฟตอนจะเป็นผู้ซัพพลายชิ้นส่วนต่างๆ ที่บริษัทยังไม่สามารถผลิตได้มาประกอบในไทย และในอนาคตจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างโฟตอนและบริษัท ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ประกอบการไทยที่รวมตัวจัดตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา
เตรียมนำเข้ารถบัสไฟฟ้าต้นปี60
นายวรากร กติกาวงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2560 บริษัทจะนำเข้ารถบัสโดยสารในรูปแบบทั้งคัน ในสัดส่วน 90 % ความสามารถการผลิต ซึ่งจะเป็นไปตามสิทธิพิเศษด้านภาษีของภาครัฐที่ไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้า 40% ส่วนอีก 10 % จะเป็นการนำเข้าชิ้นส่วนฯบางส่วนเพื่อนำมาประกอบในไทย จากโรงงานประกอบรถบัสโดยสารใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ที่ปัจจุบันมีอยู่ 44 ราย โดยจะคัดเลือกประมาณ 4 รายที่มีศักยภาพ ขณะที่กำลังการผลิตคาดว่าจะผลิตได้ 4 คันต่อวัน หรือ 300-1,200 คันต่อปี ซึ่งกำลังการผลิตขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการของตลาดในขณะนั้น
นำเข้า 3 โมเดลรถต้นแบบ
สำหรับโมเดลที่จะนำมาทำตลาดและประกอบในไทย แบ่งเป็น 3 ขนาด ได้แก่ รุ่นTEV ขนาดใหญ่ 12 เมตร ,รุ่นTEVขนาดกลาง 10.5 เมตร และรุ่น TEV ขนาดเล็ก 6.5 เมตร ซึ่งมีทั้ง 2 ระบบได้แก่ ระบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด และระบบแบตเตอรี่
โดยในช่วงแรกจะประกอบในรุ่นระบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด และทยอยประกอบระบบแบตเตอรี่ในอนาคต ขณะที่ราคาจำหน่ายจะเริ่มต้นที่ 4.5 – 8 ล้านบาท และ 9.5 ล้านบาทสำหรับขนาด 12 เมตรในระบบแบตเตอรี่ โดยขนาด 6.5 เมตรจะทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน ส่วนขนาด 10.5 เมตรขึ้นไปจะทำตลาดกับกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสาร
“ในช่วงเดือนกลางเดือน ต.ค. นี้ จะนำเข้ารถยนต์โดยสารต้นแบบมาให้บริการและทดลองวิ่งในเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นจำนวน 3 คัน เพื่อหาข้อดีและข้อเสียในการให้บริการด้านต่างๆ” นายวรากร กล่าว
ตั้งเป้ายอดขายปีแรก 100 คัน
สำหรับเป้าหมายยอดขายปีแรก คาดว่าจะทำได้ 100 คัน โดยจำนวน 70 คัน จะเป็นการขายให้กับหน่วยงานรัฐภายใต้นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างรถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 200 คัน และอีก 30 คันจะเป็นการขายให้กับองค์กรภาคเอกชนต่างๆ อาทิ กลุ่มบริษัท, มหาวิทยาลัย, โรงเรียนนานาชาติ รวมถึงการท่าอากาศยานต่างๆ
พร้อมกันนี้ยังมีเป้าหมายที่จะผลิตรถยนต์รุ่นอื่นๆ นอกเหนือจากรถโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล รถสามล้อ เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ภายใต้แผนงานในอีก 5 ปีข้างหน้า
ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/714361