อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าไทย…ทางรอด หรือ ทางตัน??
EIC SCB ชี้อนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยยังเสียเปรียบรอบด้าน ทั้งราคาสูง ผู้เชี่ยวชาญน้อย เทียบยอดจำหน่าย รถยนต์ไฟฟ้าระบบ Hybrid ในไทยปี 2015 เติบโตเพียง 1% เท่านั้น หวังอนาคตรัฐและเอกชนร่วมมือกันผลักดันเชิงพาณิชย์ให้แพร่หลาย ช่วยกดราคาให้ถูกลงได้
จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของไทยยังไม่เอื้อต่อการจำหน่ายและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งปัจจัยด้านราคาที่สูงกว่ารถยนต์ทั่วไปและการรองรับในโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันในการผลักดันนโยบายและกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อทำให้ตลาดและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ดี อีไอซีแนะผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสทางธุรกิจจากการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ และเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรให้มีทักษะเพียงพอต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแม่หรือพันธมิตรทางธุรกิจจากต่างประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ข้อเสียเปรียบของตลาดรถยนต์ของไทย ยังไม่พร้อมต่อการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะปัจจัยด้านราคานำเข้า จากข้อมูลของบริษัท LMC Automotive เผยว่ายอดขายรถยนต์ Hybrid ในไทยปี 2015 มีสัดส่วนประมาณ 1% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งยังคงอยู่ในระดับเดียวกับปี 2012 แสดงให้เห็นว่าการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทั้ง Hybrid หรือ Plug-in Hybrid มาจำหน่าย ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ทั้งนี้ เป็นเพราะราคาที่สูงกว่ารถยนต์นั่งทั่วไปมาก อย่าง NISSAN LEAF ที่มีราคานำเข้ารวมภาษีประมาณ 2.4 ล้านบาท ในขณะที่รถยนต์นั่งทั่วไปที่มีอัตราเร่งเทียบเท่าอย่าง TOYOTA CAMRY 2.5 G มีราคาเพียง 1.5 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคุณคุณัชญ์ ธนาศรีสุทธิ นักวิเคราะห์อาวุโส จาก LMCA ที่กล่าวว่า “รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ Hybrid นั้นมีราคาสูงจนผู้บริโภคมองว่ารถประเภทนี้แพงเกินไปเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน” ในด้านของ NISSAN และ TOYOTA มองว่าตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความพร้อมได้นั้นต้องได้รับการสนับสนุนในนโยบายที่มีผลต่อราคาขายเพื่อให้สามารถทำตลาดในไทยได้ เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่ถูกลง หรือกรณีของเกาหลีและเยอรมนีที่มีโครงการให้เงินสนับสนุนเพื่อซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในไทยยังไม่เอื้อต่อการจำหน่ายและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ประการแรก ปัจจุบัน จำนวนสถานีประจุไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีเพียง 20 แห่งเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับผู้บริโภคและผู้ผลิต หากพิจารณาให้ NGV เป็นกรณีศึกษาจะพบว่าในช่วงแรกการที่สถานีเติมเชื้อเพลิง NGV มีไม่เพียงพอ ได้ส่งผลกระทบไปยังรถยนต์ที่ใช้ NGV สะท้อนได้จากสัดส่วนของรถยนต์ที่ใช้ NGV ในปี 2005 มีน้อยกว่า 1% ของปริมาณจดทะเบียนทั้งประเทศ และกว่าทางค่ายรถยนต์จะสามารถผลิตรถยนต์ดังกล่าวได้เต็มที่ก็ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ประการที่สอง เมื่อมองถึงความพร้อมในการสร้าง business model ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง ระบบ car sharing ที่ใช้ในสหรัฐฯ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและเกาหลี การจัดการและรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ หรือความเชื่อมโยงในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ smart grid และพลังงานทางเลือก พบว่าไทยก็ยังไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้ และประการสุดท้ายไทยยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญได้ เช่น ลิเธียมแบตเตอรี่ มอเตอร์ไดรฟ์และคอนโทรล ยูนิต ทำให้ต้องมีการนำเข้า ซึ่งเป็นการสร้างข้อกังวลให้กับผู้บริโภคในด้านของความสามารถและความพร้อมของอะไหล่ที่จะนำให้บริการและซ่อมบำรุง
ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือในการผลักดันของทั้งภาครัฐและเอกชนจะช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมีความเป็นไปได้ในอนาคต ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยด้วยการที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้ชัดเจนภายในพฤศจิกายนปีนี้ โดยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายกระทรวงต่างให้ความร่วมมือในการจัดโครงการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นโครงการกำหนดมาตรฐานของเต้ารับเต้าเสียบสำหรับการประจุไฟฟ้าในรถยนต์ไฟฟ้าหรือการศึกษาการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนผ่าน BOI ของกระทรวงอุตสาหกรรม โครงการนำร่องการใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า 200 คันของกระทรวงคมนาคมที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้รถเมล์ Diesel-Hybrid สำหรับรถเมล์ขสมก.สาย 137 โครงการของกระทรวงพลังงานที่สนับสนุนทุนจัดตั้งสถานีประจุไฟฟ้า 76 ล้านบาท โครงการสนับสนุนของ iEVT และ สวทช สำหรับพัฒนามอเตอร์และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตชิ้นส่วน รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาเส้นใยเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ลิเทียม (Li-ion batteries) สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในส่วนของภาคเอกชนนั้น ถือว่าบริษัท BMW เป็นรายแรกที่มีการประกาศขยายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิด PHEV (รุ่น X5 และ 330e) ภายในปีนี้เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปจีนที่ถือเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมียอดขายมากกว่า 2 แสนคันในปี 2015 นอกจากนี้ ผู้ผลิตค่ายยุโรป เช่น Mercedes-Benz Porsche ก็มีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าชนิด Plug in Hybrid (PHEV) หลากหลายรุ่น รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น FOMM ก็อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผลิตแบตเตอรี่ในไทยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามอีไอซีแนะผู้ประกอบการควรมองหาโอกาสใหม่ๆเพื่อต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดตั้งสถานีประจุไฟฟ้า โครงการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า หรือโครงการพัฒนาทางเทคโนโลยีต่างๆ และนอกจากนี้ ควรจะเชื่อมโยงสู่ธุรกิจอื่นๆ เพราะเมื่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยเกิดขึ้นก็จะมีความพร้อมที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจภาคบริการ เช่น การจัดตั้งสถานีประจุไฟฟ้า การให้บริการซ่อมบำรุง การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและอะไหล่ หรือแม้แต่การพัฒนา business model ใหม่อย่างระบบ car sharing ในไทย
นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะในด้านบุคลากร เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้านั้นไม่เพียงแต่จะเข้ามาแทนที่ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แบตเตอรี่แทนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนแทนเครื่องยนต์เท่านั้น แต่จะมีผลต่อการนำอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในรถยนต์ทั่วไปมากขึ้นด้วย อีกทั้ง ผู้ผลิตชิ้นยานยนต์รายใหญ่ของโลกอย่าง Denso Delphi และ Robert Bosch ก็พัฒนาเซนเซอร์และระบบต่างๆ ซึ่งอาจจะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยซึ่งอยู่ในลำดับที่ต่ำลงมาด้วย ดังนั้น เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะเพียงพอและพร้อมต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแม่หรือพันธมิตรทางธุรกิจจากต่างประเทศในอนาคต