กรมการขนส่งทางบก ปรับปรุงเงื่อนไขจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 20 ม.ค.60 นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เรามีนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกทดแทนการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมาอย่างต่อเนื่องพร้อมกำหนดมาตรการสนับสนุนต่างๆ อาทิ การลดภาษีรถประจำปี สำหรับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ CNG เป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
ล่าสุดได้กำหนดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าและความเร็วขั้นต่ำของรถ ที่จะนำมาจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านวิศวกรรมยานยนต์ตามมาตรฐานสากล และให้มีความเหมาะสมกับสภาพการจราจรและการใช้รถใช้ถนนของประเทศไทย โดยกำหนดให้รถยนต์ (รถเก๋ง) ซึ่งมีน้ำหนักรถน้อยกว่า 450 กิโลกรัม โดยไม่รวมน้ำหนักแบตเตอรี่
ส่วนรถกระบะขนาดเล็กที่มีน้ำหนักรถน้อยกว่า 600 กิโลกรัม โดยไม่รวมน้ำหนักแบตเตอรี่ ต้องมีกำลังพิกัดมอเตอร์ไฟฟ้า (Rated Power) ไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะต้องติดเครื่องหมายตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด (พื้นเครื่องหมายเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีน้ำเงินเข้ม ปรากฏข้อความ “รถขนาดเล็ก S” สีขาวสะท้อนแสง)
ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นรถขนาดเล็กที่ใช้พลังงานไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ รถตู้ รถยนต์กระบะบรรทุกทั่วไปที่มีน้ำหนักรถไม่รวมน้ำหนักแบตเตอรี่มากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น หากจะนำมาจดทะเบียนต้องมีกำลังพิกัดมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าที่เคยกำหนดไว้ในประกาศเดิม เพื่อความปลอดภัยและไม่กีดขวางการจราจรเมื่อใช้งานบนท้องถนนร่วมกับรถที่ใช้พลังงานประเภทอื่น
นายสนิท กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากแก้ไขกำลังมอเตอร์ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าโดยปรับลดลงจากที่เคยกำหนดไว้ 0.5 กิโลวัตต์ เป็นไม่น้อยกว่า 0.25 กิโลวัตต์ หรือไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ แต่ยังคงกำหนดให้มีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมงเช่นเดิม สำหรับรถยนต์สามล้อรับจ้าง และสามล้อส่วนบุคคลยังคงกำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์เดิม คือต้องมีกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ปัจจุบันมีจำนวนรถพลังงานไฟฟ้าที่จดทะเบียนแล้วจำนวน 1,459 คัน โดยกรมการขนส่งทางบกให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานทางเลือกของประเทศ โดยต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงความปลอดภัยต่อการขับขี่อีกด้วย
มีความคิดเห็นอย่างไรกับระเบียบนี้เล่ากันได้ครับ
ขอขอบคุณบทความจาก http://www.thairath.co.th/content/840169
ความเห็นของคุณ
comments