Site icon Thai Green Car : สู่อนาคตรถยนต์ไฟฟ้า Electric Car

Tesla Motor ราชันรถพลังไฟฟ้า ที่ยากหาใครเทียบเคียง

Tesla Motor จ้าวแห่งรถพลังไฟฟ้า ณ เวลานี้คือเบอร์หนึ่งของโลกอย่างแท้จริง

แม้จะเพิ่งก่อตั้งได้เพียงสิบกว่าปี แต่ชื่อเสียงของ Tesla Motor ก็ตีขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของผู้นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างรวดเร็วและลอยลำ แม้ว่าค่ายรถอื่น ๆ จะเริ่มหันมาพัฒนารถพลังไฟฟ้าของตัวเองขึ้นมา

แต่ในตอนนี้ก็ต้องบอกว่ายังไม่มีใครบังอาจมาโค่นบัลลังก์ของเทสล่าลงได้ ไม่ว่าจะเป็น Nissan Leaf (2018), Volkswagen e-Golf รุ่นใหม่, Chevy Bolt, Audi R8 E-Tron, Audi Q6 E-Tron SUV, Aston Martin DBX, Porsche Pajun ฯลฯ สารพัดรุ่นที่แต่ละค่ายส่งมายังเทียบเทสล่าไม่ติด ลองมาดูบทวิเคราะห์จาก autoblog กันว่า ทำไมเทสล่าจึงเป็นผู้นำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีดีที่ตรงไหน และต้องทำยังไงจึงจะโค่นเทสล่าลงได้

สูตรความสำเร็จของ Tesla Motor

สูตรสู่ความสำเร็จของเทสล่าไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนอะไรนัก เทสล่าเลือกใช้เซลล์แบตเตอรี่ลิเทียมที่ให้ความหนาแน่นพลังงานสูงสุด ในราคาที่ต่ำที่สุด ทำขึ้นเป็นแพ็กรูปสี่เหลี่ยมติดตั้งที่พื้นห้องโดยสาร แก้ปัญหาพลังงานต่ำ ด้วยการใช้มันเป็นจำนวนมาก วางตำแหน่งมอเตอร์ไฟฟ้า อินเวอร์เตอร์ และเกียร์รีดักชั่น ไว้ที่ส่วนล้อหลัง ด้วยโครงสร้างเช่นนี้ทำให้เกิดจุดศูนย์ถ่วงต่ำ แต่ความเฉื่อยในการหมุนสูง อันเป็นสองคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการบังคับรถ

ระบบขับเคลื่อนส่งกำลังยังถูกออกแบบมาเรียบง่าย ไม่กินพื้นที่ในแนวตั้งมากมาย ทำให้เหลือพื้นที่สำหรับเล่นกับการดีไซน์รูปร่างหน้าตาของรถอย่างเต็มที่ ส่วนพื้นห้องโดยสารก็เรียบ ด้านในจึงไม่อึดอัด ขณะที่กระโปรงหน้ายังมีพื้นที่สำหรับเป็นห้องเก็บสัมภาระได้ด้วย

และสิ่งสุดยอดที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เทสล่าเป็นรถยนต์พลังงานไฟ้ฟ้าที่น่าพิสมัยกว่าใคร ๆ คือโครงข่ายสถานี “ซูเปอร์ชาร์จจิ้ง” ที่มีให้บริการ “ฟรี” ไม่ต้องขับกลับไปชาร์จที่บ้านเท่านั้นอีกต่อไป เป็นจุดเด่นที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักขับพลังงานไฟฟ้าที่ชอบเดินทาง และในตอนนี้เทสล่าก็จ่อขยายพันธมิตรสถานีพลังงาน ให้มีติดตั้งอยู่ตามจุดหมายปลายทางการเดินทางต่าง ๆ อย่างการเซ็นสัญญากับโรงแรมให้ติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้าไว้ในลานจอดรถของตัวเอง เป็นต้น

Tesla

เหตุใดจึงยังไม่มีใครเทียบขั้น Tesla Motor ได้

เมื่อสูตรความสำเร็จของเทสล่าไม่ได้ยุ่งยากมากมายอย่างที่ใคร ๆ คิด แล้วทำไมค่ายรถอื่น ๆ จึงยังไม่อาจตีตื้นมาเทียบขั้นได้ เหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ “ยังไม่มีค่ายไหนทุ่มเต็มร้อยกับตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า” แม้จะมีการผลิตคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกี่ยวกับรถพลังงานไฟฟ้าขึ้นมา แต่ก็ไม่มีใครรุกตลาดด้านนี้อย่างจริงจัง ก็เมื่อตนสามารถทำงานกับตลาดรถยนต์พลังงานปกติได้ดีอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องทุ่มตัวมาเสี่ยงกับตลาดนี้ โมเดลรถพลังไฟฟ้าส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงสิ่งที่ดัดแปลงมาจากโมเดลพื้นฐานของรถที่ออกแบบมาสำหรับติดตั้งแก๊สเท่านั้น

โมเดลและแบตเตอรี่

เมื่อโมเดลมาจากการดัดแปลง ส่งผลให้ส่วนของแบตเตอรี่ที่ใช้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะที่จะเป็นรถพลังงานไฟฟ้าสมรรถนะสูง ค่ายรถจำนวนมากเลือกใช้แบตเตอรี่แบบ ponch cell ที่ให้ค่า C-rate สูง คือให้พลังงานมากแต่ความหนาแน่นพลังงานต่ำ เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ชนิด cylindrical cell รุ่น 18650 ของ Telsa Model S แล้ว ก็วิ่งได้ระยะเพียง 1 ใน 3 ของเทลซ่า

ด้านหน้ารถหนักมากเกินไป

ด้วยข้อจำกัดเรื่องขนาดของแบตเตอรี่ ซี่งกินพื้นที่ด้านล่างไป ทำให้เครื่องยนต์ของรถถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งที่เขยิบขึ้นมาทางด้านหน้า แทนที่จะมีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บสัมภาระเช่นเดียวกับของเทสล่า (รวมทั้ง Mitsubishi i-MiEV และ the BMW i3) ที่กระโปรงหน้าของรถไฟฟ้าจึงถูกอัดด้วยเครื่องยนต์กลไกที่ใส่เอาไว้เพื่อเพิ่มสมรรถนะทดแทนสิ่งที่จะได้จากรถยนต์ไฟฟ้าชนิดเต็มรูปแบบ อย่างเช่นที่พบใน Fiat 500e และ Ford Focus EV เป็นต้น

คู่ (พยายาม) แข่ง ของ Tesla Motor

– BMW i3 วางโครงสร้างเครื่องยนต์ไว้ทางล้อหลังเช่นเดียวกับเทสล่า และออกจะเหนือกว่าด้วยโครงแชสซี่คาร์บอน เสนอเครื่องยนต์ติดแก๊สเพื่อเป็นออปชั่นทดแทนเมื่อพลังงานไฟฟ้าหมด ซึ่งวิ่งได้ระยะทาง 130 กม.เมื่อชาร์จเต็ม แทนที่จะใส่แบตเตอรี่ที่มีความอึดมากกว่า

– Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก ๆ ขายออกไปได้แล้วกว่า 172,000 คันทั่วโลก ล่าสุดวางสเปคให้โมเดลต่อไปของ Leaf จะวิ่งได้ 321 กม.หรือมากกว่า ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติที่ขึ้นมาขับเคี่ยวสูสีกับว่าที่ Tesla Model 3 ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม นิสสัน ลีฟ ยังมีข้อเสียเปรียบเรื่องสถานีพลังงาน ซึ่งปัจจุบันใช้โครงข่ายของ CHAdeMO ที่เติมพลังงานได้ในอัตรา 62.5 kW แถมสถานีบริการยังไม่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้แบตเตอรี่ที่อาจใหญ่ขึ้นในอนาคต ก็เท่ากับว่าต้องใช้เวลาในการชาร์จมากขึ้นด้วย หากไม่สามารถหาทางออกในจุดนี้ได้ ก็จะเป็นข้อเสียเปรียบอีกประการหนึ่ง

– Porsche Pajun คู่แข่งที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งที่ถูกจัดให้ขับเคี่ยวกันได้กับ Tesla Model X ทั้งเรื่องดีไซน์ ราคา สมรรถนะ เทคโนโลยี และโครงข่ายสถานีพลังงาน แต่ทว่าตราบเท่าที่ Porsche ยังไม่จรดปลายปากกาเซ็นสัญญาใช้สถานีพลังงาน Supercharger ร่วมกับเทสล่า อันเป็นสิ่งที่ อีลอน มัสค์ ซีอีโอแห่ง Tesla Motor เอ่ยปากเปิดกว้างที่จะให้ความร่วมมือ ก็จะยังทำให้รถพลังไฟฟ้าของเทสล่าเป็นต่อกว่าอยู่ดี

– Chevy Bolt แม้จะถูกจับตามองในฐานะรถพลังไฟฟ้าที่จะเปิดตัวในราคาต่ำกว่า Tesla Model 3 แต่โครงข่ายสถานีพลังงาน SAE Combo ที่ Chevy ประกาศว่าจะใช้ ก็ยังไม่ได้ผุดให้เห็นเป็นตัวเป็นตนในตอนนี้ นอกจากนี้ระบบชาร์จของ SAE Combo ให้พลังงานที่อัตรา 90 kW ซึ่งช้ากว่า Supercharger ของเทสล่า แถมยังไม่ยอมให้บริการฟรี ๆ นอกจากนี้ยังคาดการณ์กันว่า Chevy Bolt คงไม่น่าจะมาด้วยแบตเตอรี่ที่จุพลังงานมากกว่า และระบบซอฟต์แวร์ที่ดีไปกว่าของเทสล่าด้วย

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือสิ่งที่ทำให้ Tesla Motor ยังเป็นยักษ์ที่ตัวใหญ่สุดในเซคชั่นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน แต่ในอนาคตนั้นจะโดนโค่นแชมป์ได้หรือไม่และจากผู้ใด ก็ต้องคอยติดตามกันต่อไป บอกได้เลยว่าการจะเอาชนะได้ต้องขับเคี่ยวกันทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องการออกแบบตั้งแต่ส่วนพื้นฐานที่สุดไปจนถึงเรื่องเครื่องยนต์กลไกและซอต์ฟแวร์ ประสิทธิภาพแบตเตอรี่ในแง่ความคุ้มค่าของราคาและนวัตกรรม และโครงข่ายสถานีน้ำมัน หากค่ายไหนมีพร้อมทุกเรื่องที่กล่าวมาก็ท้าชนได้เลย

ขอขอบคุณบทความจาก : http://car.kapook.com/view118635.html

ความเห็นของคุณ

comments

Exit mobile version