Site icon Thai Green Car : สู่อนาคตรถยนต์ไฟฟ้า Electric Car

วิสัยทัศน์สู่ยุครถยนต์ใช้ไฟฟ้า

นาย Michael Horn นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีอวกาศ และนักวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ได้นำเสนอความคิดเรื่องการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไว้ในนิตยสาร Futurist ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2010 ว่า ก่อนกลางศตวรรษที่ 21 ประเทศสหรัฐฯ จะเปลี่ยนเชื้อเพลิงของรถยนต์จากน้ำมัน เป็นไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสหรัฐฯ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ แต่รถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ต้องคอยชาร์ตไฟฟ้าบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับการขับในระยะไกล และในอนาคตจะพัฒนาให้รถยนต์สามารถชาร์ตไฟฟ้าได้จากคลื่นวิทยุขณะที่ขับรถยนต์อยู่ ซึ่งช่วยให้ผู้ขับไม่ต้องจอดรถเพื่อชาร์ตไฟ รถยนต์ไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดกลิ่นจากการระเหยของน้ำมัน และไม่เกิดเสียงขณะขับรถยนต์ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบัน

ปัญหาของการใช้น้ำมันในรถยนต์ คือการปล่อยก๊าซที่เป็นพิษสู่สภาพแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์จริงๆ แล้วมีแค่ร้อยละ 15 เท่านั้น นอกนั้นร้อยละ 85 ถูกเผาผลาญเป็นมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้น้ำมันยังเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจที่พึ่งพาแต่น้ำมันเป็นหลัก จึงมีความคิดที่จะมองหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทนน้ำมัน ประเทศสหรัฐฯได้มีนโยบายที่จะลดการใช้และลดการอาศัยน้ำมันมานานหลายสิบปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามยังคงดำเนินนโยบายนี้ต่อ โดยพัฒนารถยนต์ประหยัดน้ำมันจาก 27 ไมล์/แกลลอน ไปเป็น 35 ไมล์/แกลลอน และมองหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อมาทดแทนน้ำมัน จากการผลักดันดังกล่าวเราจะสามารถสร้างรถยนต์ประหยัดน้ำมันได้ถึง 200 ไมล์ต่อแกลลอน ในอีก 350 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องใช้เวลาอีกยาวนาน และยังต้องอาศัยน้ำมัน ดังนั้นการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นหนทางเดียวที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมัน แต่เรายังไม่สามารถผลักดันให้ประชาชนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปัญหาหลายอย่างที่สำคัญ เช่น ระยะทางที่สามารถวิ่งไปได้ไม่ไกล ระยะเวลาในการชาร์ตไฟฟ้านาน และมีสถานที่ชาร์ตไฟไม่มาก ประธานาธิบดีโอบามาจึงทุ่มงบประมาณในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแบบไม่ต้องอาศัยสถานที่ชาร์ตไฟ

ด้านดีของรถยนต์ใช้ไฟฟ้า คือ ประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากรถยนต์มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปโดยไม่มีส่วนที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ (ซึ่งแตกต่างจากการใช้น้ำมันที่เราเสียเงินไปเป็นจำนวนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน) และช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ในข้อเท็จจริงแล้วเราสามารถสร้างรถยนต์ไฟฟ้าในรูปลักษณ์ต่างๆ ได้มากมายโดยไม่มีข้อจำกัดมากเท่ารถยนต์ในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพในการวิ่งที่สูง อย่างเช่น วิ่งที่ความเร็ว 5 ไมล์ต่อชั่วโมง มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับรถยนต์ใช้น้ำมันวิ่งที่ความเร็ว 50 ไมล์ต่อชั่วโมง การเร่งความเร็วทำได้เร็วกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน และลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เพราะไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และสายพาน ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ อย่างเช่น ศูนย์บริการและศูนย์จำหน่ายรถยนต์ต้องเปลี่ยนทิศทางจากการขายรถยนต์ บริการเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ หรือบริการอื่นๆ ไปเน้นด้านการตลาดในการนำเสนอรูปแบบตัวถังรถยนต์ไฟฟ้าแบบต่างๆแทน เพราะผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ใหม่ทั้งคัน แต่สามารถเปลี่ยนแต่รูปแบบของตัวถังให้ทันสมัยได้ตามต้องการ

ในด้านเศรษฐศาสตร์ รถยนต์ไฟฟ้าสามารถลดการพึ่งพาน้ำมันที่เป็นแหล่งพลังงานหลักในปัจจุบัน ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถนำงบประมาณสำหรับการซื้อน้ำมันไปใช้ในด้านอื่นที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาเศรษฐกิจได้อีกมากมาย และช่วยพลักดันการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยการสร้างสถานีสำหรับการชาร์ตพลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศเป็นอันดับแรก โดยอาศัยปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ในปัจจุบันและแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ เพียงแต่มีข้อบังคับให้ปั๊มน้ำมันแต่ละแห่งมีที่ชาร์ตไฟฟ้าสำหรับรถยนต์แห่งละหนึ่งจุดในช่วงแรก เมื่อผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าสามารถขับขี่ไปได้ไกลมากกว่าในตัวเมืองแล้ว ปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเองจนทุกคนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมด รวมทั้งต้องพัฒนาความรวดเร็วในการชาร์ตไฟฟ้า นอกจากนี้ต้องสร้างแบตเตอรี่ กับเครื่องชาร์ตไฟฟ้าให้มีมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถชาร์ตไฟฟ้าได้ทุกแห่ง แนวความคิดเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการออกกฎข้อบังคับ กับเจ้าของปั๊มน้ำมันแต่ละแห่ง ในการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจแบบใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ และของโลกดีขึ้น

ขอขอบคุณบทความ : http://www.ostc.thaiembdc.org/news_us/Mar53_8.html

ความเห็นของคุณ

comments

Exit mobile version